วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ลงทุนอย่างไร..ไม่ให้เหนื่อย

ลงทุนอย่างไร..ไม่ให้เหนื่อย

“ผมควรใช้เวลากับการลงทุนในหุ้นมากแค่ไหนครับ?” “ถ้าผมซื้อแล้วไม่ขายเลยจะรวยได้ไหม?” คำถามด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ของผู้ลงทุนท่านหนึ่ง ท่านนี้มีประสบการณ์ในตลาดหุ้นมา 4-5 ปี เอาจริงเอาจังและให้เวลากับการลงทุนในหุ้นไม่น้อย ยิ่งถ้าวันไหนมีเหตุการณ์ไม่ปกติ เช่น ตลาดหุ้นผันผวนหนัก ก็ถึงกับนั่งจ้องดูกราฟราคาในทุกโอกาสที่ทำได้ ซึ่งด้วยราคาของหุ้นที่ลงทุนไว้เคลื่อนไหวตลอดเวลาและด้วยจิตใจที่แกว่งไปมาตามเส้นกราฟ ทำให้ท่านซื้อขายวันละหลายรายการ เรียกได้ว่าเป็นผู้ลงทุนที่แอ็คทีฟสุดๆ แต่ผลลัพธ์คือ แม้ไม่ขาดทุน แต่กำไรที่ได้ไม่คุ้มค่านักกับผลด้านอื่น รวมถึงสายตาเขียวๆ ของเจ้านายที่แอบมองอยู่ในระหว่างวัน และผลงานที่ไม่ค่อยมีคุณภาพเพราะขาดสมาธิในการทำงาน

จากคำถามและผลการลงทุนของท่าน ดิฉันคิดว่า น่าจะมีทางออกที่พอจะช่วยได้ มาลองปรับรูปแบบกลยุทธ์การลงทุนกันใหม่ดี
ไหมคะ มี 4 ขั้นตอน ดังนี้ค่ะ

1) ทุ่มเทพลังครั้งแรกให้กับการศึกษาข้อมูลหุ้นก่อนตัดสินใจซื้อ การเริ่มต้นนี้สำคัญที่สุดค่ะ เหมือนกับการติดกระดุม ถ้าเม็ดแรกผิด ที่เหลือจะผิดไปหมด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลของกิจการอย่างลึกซึ้งโดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตในระยะยาว กิจการมีความได้เปรียบในการแข่งขัน มีการกำกับและดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) มีความโปร่งใส มีผู้บริหารที่มีความสามารถและไว้วางใจได้ ที่สำคัญต้องมีเงินปันผลที่ดีอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งท่านอาจใช้ทางลัดโดยเริ่มต้นจากศึกษาหุ้นในกลุ่ม SET High Dividend 30 Index ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคัดกรองมาทำเป็น index ไว้ก่อน

2) ถือไว้ให้มั่น รอการเติบโต หลายคนเริ่มต้นดี แต่ระหว่างทางพอราคาหุ้นขึ้นก็อดใจไม่ไหว รีบขายทำกำไรไปก่อน ดังนั้นจึงขอให้คิดไว้เสมอว่า “ถ้ามั่นใจว่ามีหุ้นดีอยู่กับตัวแล้วจะขายหมูไปทำไม” และถ้าไม่ลำบากจนเกินไป ท่านควรทำบันทึกการลงทุนไว้ด้วย โดยหากท่านนำเงินปันผลที่ได้ไปหักต้นทุนที่ซื้อ ท่านจะพบว่ายิ่งนานวัน ต้นทุนของท่านยิ่งต่ำลงเรื่อยๆ จนในที่สุดอาจถือหุ้นตัวนั้นโดยแทบไม่มีต้นทุน จนไม่ต้องกังวลว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงอีกต่อไป (ตัวอย่างการคิดแบบง่ายคือ หุ้นให้ปันผลปีละ 10% ของราคา หากถือไว้ 10 ปี เท่ากับว่าคืนทุนแล้ว วิธีคิดแบบนี้ไม่ได้ให้ผลที่ถูกต้องแท้จริงแต่พอให้เราเห็นภาพได้) ตราบใดที่บริษัทยังเติบโตและให้เงินปันผล รวมทั้งการไม่ซื้อขายบ่อยช่วยให้ประหยัดค่าธรรมเนียมอีกด้วย

3) ติดตามหุ้นที่ลงทุนไว้เป็นระยะๆ เพื่อทบทวนการลงทุนท่านอาจติดตาม 1-2 เดือนครั้ง หากราคาหุ้นนั้นตกเพราะปัจจัยภายนอก แต่พื้นฐานของบริษัทยังดี อุตสาหกรรมนี้ยังไปต่อได้ ท่านอาจจะซื้อเพิ่มเติมไว้อีก โดยไม่จำเป็นต้องหวั่นไหวไปกับความผันผวนระยะสั้น ควรหนักแน่นและมั่นใจว่าท่านยังถือหุ้นที่ดี ซึ่งจะสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้ แต่หากพื้นฐานของบริษัทและอุตสาหกรรมเริ่มเสื่อมถอย ท่านอาจทบทวนลดการลงทุน ข้อมูลของบริษัทสามารถหาอ่านได้จากแบบรายงาน 56-1 หรือรายงานประจำปี รวมทั้งบทวิเคราะห์หลักทรัพย์

4) รู้จักกระจายความเสี่ยง การลงทุนที่ดีต้องลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอ เพื่อกระจายความเสี่ยง แต่ควรระวังการลงทุนในหุ้นของหลายบริษัทมากเกินไป เพราะจะทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ลงทุนมือใหม่ แนะนำให้ลงทุนในบริษัทจำนวนน้อยก่อน เมื่อได้ศึกษาและมีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว จึงค่อยเพิ่มจำนวนหุ้นในพอร์ตเพื่อการกระจายความเสี่ยงตามความเหมาะสมค่ะ
ด้วยวิธีการลงทุนยาวแบบนี้ ท่านไม่จำเป็นต้องนั่งจ้องราคาหุ้นที่หน้าจอ ไม่ต้องวิตกกังวลให้เกิดความเครียดจนกระทบไปถึงงานประจำ ที่จริงแล้วการลงทุนยาวแบบนี้เหมาะกับทุกคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยเกษียณ วัยทำงาน หรือวัยเริ่มต้นมีเงินออม ทุกคนควรแบ่งเงินออมส่วนหนึ่งเพื่อการลงทุนระยะยาวค่ะ โดยท่องไว้ว่า ทุ่มเทพลังศึกษา ถือมั่นรอการเติบโต ติดตามเป็นระยะ และรู้จักกระจายความเสี่ยงค่ะ

ที่มา : คอลัมน์ “หน้าต่าง ก.ล.ต.” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ประจำวันที่ 30 ตุลาคม 2556...โดยคุณเสาวนีย์ สุวรรณรงค์
ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น