วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

แบ่งหุ้นออกเป็น 6 ลักษณะตามรูปแบบการลงทุนแบบ Value investor

แบ่งหุ้นออกเป็น 6 ลักษณะตามรูปแบบการลงทุนแบบ Value investor
ก่อนหน้านี้ผมเคยแนะนำในการแบ่งกลุ่มหุ้นในการวิเคราะห์ชาร์ตทางเทคนิคไปแล้วซึ่งมันทำให้เราสามารถวางกลยุทธ์การลงทุนได้ง่ายขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ดีทีเดียวครับ เพราะ หุ้นที่ผมแบ่งทั้งชุด A B C D F นั้นก็คัดแยกจากหุ้นที่มีลักษณะที่แตกต่างกันไปทำให้เราสามารถวิเคราะห์กราฟและดูพฤติกรรมราคาได้ชัดเจนขึ้น รวมถึงสามารถทำให้เรารู้ได้ว่าเรากำลังสู้กับใคร กองทุนสถาบัน นักลงทุนต่างชาติ ป็อปเทรด หรือ รายย่อยเจ้ามือ ด้วยกันเอง ต่อมาผมอยากจะแนะนำในส่วนการพิจารณาหุ้นในส่วนของการวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเป็นวิธีการที่ผมยึดมั่นและใช้ในการพิจารณาในการลงทุนแบบ Value investor มาตลอดครับ ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการและแนวทางของ ปีเตอร์ ลินท์ ผู้จัดการกองทุนของ Fidelity investment ครับ
การแบ่งกลุ่มหุ้นทางปัจจัยพื้นฐานแบ่งออกเป็น 6 ชุดตามลักษณะดังนี้ครับ
1.หุ้นโตช้า (The slow growers)
หุ้นโตช้า คือหุ้นที่เคยเป็นบริษัทขนาดใหญ่และเก่าแก่ แสดงว่าก่อนหน้านี้เคยเป็นหุ้นที่โตเร็วมาก่อนๆที่จะหมดแรง อาจเพราะบริษัทมีความอิ่มตัว หรือมันมาเกินมูลค่ามากจนเกินไปมากแล้วครับ และเมื่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและดดยรวมเริ่มชะลอตัว บริษัทเหล่านี้ก็จะหมดแรงลงเช่นกันครับ ซึ่งหุ้นลักษณะนี้จะเคยเป็นหุ้นที่มีความนิยมมาก่อนและมีทั้งการเข้ามาเก็งกำไรและลงทุนระยะยาวครับ ซึ่งเราสังเกตได้จาก Trend ของตลาดและความต้องการของผู้ใช้บริการ หุ้นโตช้านี้เราสังเกตได้จากหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอครับ และมีกำไรต่อหุ้นที่ไม่ค่อยปรับเพิ่มขึ้นครับ หากเจอลักษณะแบบนี้ ผมจะมองว่าเป็นหุ้นโตช้า ลองมองดูครับว่าก่อนหน้านี้ผู้บริโภคนิยมอุตสาหกรรมใด ย้อนไปหลายปีก่อนๆในอดีตหุ้นคอมพิวเตอร์เป็นหุ้นที่โตไวและนักลงทุนให้ความสนใจมาก ลองมามองในปัจจุบันครับ มันเริ่มช้าลงแล้ว ถ้ามองในประเทศเราก็ไม่ต่างกันหุ้นอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก็อยู่ในทิศทางที่เติบโตช้า หุ้นจำพวกนี้หนี้สินน้อยและบริษัทมีงบการเงินที่ดี แต่ ! Trend ไม่มีครับ
2.หุ้นโตเร็ว(The fast growers)
บริษัทที่มีขนาดเล็กและมีการเติบโตปีละ 15-25 % ซึ่งเป็นบริษัทที่ยอดเยี่ยมมากครับ หุ้นลักษณะนี้นี่แหละทำให้ผมได้หลายเด้ง หลายเด้งคือการทำกำไรเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเช่น 10 เด้ง ก็ 10 เท่า สิ่งนึงที่พ่อผมแนะนำเพิ่มเติมมาตลอดและย้ำเสมอคือ หุ้นโตเร็วนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในอุตสาหกรรมที่มี trend ก็ได้ ท่านย้ำเสมอว่าหากจะหากิจการโตเร็ว อย่ามองแค่ตัวกลุ่มหรือ trend ของการบริโภค แค่บริษัทนั้นมีโอกาสเติบโตในอุตสาหกรรมของตัวเองก็พอ เช่นหุ้น A และ B อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่หุ้น A มีการเติบโตปีละ 15-20 % แต่หุ้น B เติบโตเพียง 2-5 % แบบนี้มันก็มีเยอะครับ และผมก็เห็นในตลาดหุ้นไทยยังมีให้เห็น เพียงแค่ตลาดหุ้น และนักวิเคราะห์ยังไม่พบเจอมัน เท่าที่ผมพบเจอและถืออยู่มี 16 ตัวแต่ดูดีสุดแค่ 4 ตัวครับ อีกสิ่งนึงที่ทำให้เราวิเคราะห์กันผิดพลาดก็คือ หุ้นโตเร็วไม่ใช่หุ้นวัฎจักร อย่าเอาหุ้นวัฎจักรไปรวมในกลุ่มนี้ หุ้นที่โตเร็วคือหุ้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นั่นแสดงว่า กำไรเพิ่มขึ้น หนี้สินลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นก็นิดหน่อย ซึ่งเราต้องติดตามจากผลดำเนินงานของบริษัทว่าเพิ่มขึ้นลดลงเพราะสาเหตุอันใดครับ ที่สำคัญหุ้นโตเร็วก็มีความเสี่ยงครับหากบริษัทไม่มีทุนมากพอที่จะดำเนินการขยายตัวดังนั้นหุ้นลักษณะนี้จะมีการเพิ่มทุนบ้าง แต่ไม่ควรบ่อยเกินไป และคุณต้องสังเกตการเพิ่มทุนว่าเพิ่มไปเพื่ออะไร มันดีต่ออนาคตของกิจการ หรือสร้างนี่สินเพิ่มขึ้นกันแน่ครับ ตลาดจะยังไม่พบหุ้นลักษณะนี้จึงทำให้คุณสามารถซื้อมันได้ในราคาที่ไม่เลวร้ายเกินไป จะหาหุ้นแบบนี้หาง่ายๆครับ ลองมองรอบๆตัวเราสิครับ มันมีอะไรที่มันมีแนวโน้มที่คนจะนิยม และเมื่อคนนิยมมากๆ กิจการจะดีมีรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อนั้นตลาดหุ้นและนักวิเคราะห์จะพบมัน และมันก็จะปรับตัวขึ้น คุณก็แค่นั่งยิ้มและเลี้ยงลูกหลานไป ปัญหาคือ หามันเจอหรือยัง ?
3.หุ้นแข็งแกร่ง(The stalwarts)
หากเทียบกับหุ้นที่ผมแบ่งไว้ในทางเทคนิคก็คือ หุ้นชุด A ครับ เช่น ADVANC PTT KBANK SCC หุ้นลักษะณะนี้จะมีกำไรสม่ำเสมอครับ และคนรู้จักกันเรียกว่าเป็นพี่ใหญ่ก็ได้ มี market cap. ขนาดใหญ่ การเติบโตนั้นจะเติบโตกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจบ้างเช่นอาจจะประมาณปีละ 10% โดยเฉลี่ยครับ หุ้นแข็งแกร่งก็คือหุ้นที่แข็งแกร่งสมชื่อ มันไม่เหมาะกับการลงทุน มันเหมาะกับการเทรดเก็งกำไรตามกระแส fund flow เสียมากกว่า โดยส่วนตัวนั้นผมมองหุ้นชุดนี้หรือหุ้นแข็งแกร่งนี้เป็นหุ้นที่มีไว้เพื่อเทรดเสียมากกว่าครับ แต่หากมองในแง่ของ Value investor หุ้นลักษณะนี้เราก็ถือลงทุนได้แต่เมื่อเราได้ผลตอบแทน 30-40 % โดยใช้เวลา 2-3 ปีผมก็มองในแง่ของการขายละครับ เพราะหุ้นลักษณะนี้จะมีการเข้ามาทำราคาโดยนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนต่างชาติก็เข้ามาอย่างน้อยๆก็ปีละครั้ง จะมากกว่านั้นก็มีบ้างในช่วงเศรษฐกิจกำลังไปได้ดี ดังนั้นหุ้นขนาดใหญ่และแข็งแกร่งลงทุนได้ครับ แต่ลงทุนในช่วงที่มันเหมาะแก่การลงทุนเช่น ลงเพราะสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจ ภาวะ fund flow ไหลออก หรือปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบเพียงระยะเวลาสั้นๆ ครับ
4. หุ้นวัฎจักร(The Cyclicals)
หุ้นวัฎจักรคือหุ้นที่มียอดขาย รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นและลดลงสม่ำเสมอครับ และเราแทบจะรู้ได้เลยว่าเมื่อไรจะเกิดรอบของมันเช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมสายการบิน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเรือเทกอง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ จำพวกนี้จะมีรอบของธุรกิจครับ สิ่งที่แตกต่างระหว่างหุ้นโตไวกับหุ้นวัฎจักรคือ หุ้นโตไวนั้นจะมีการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้น และมีการขยายตัวตลอดเวลา แต่หุ้นวัฎจักรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นและลดลงตามรอบของธุรกิจ เช่นกลุ่มเรือเราสังเกตจากค่าระวางเรือ กลุ่มท่องเที่ยว และสายการบินก็ต้องพิจารณาจากช่วง high season ที่มีการเข้ามาจับจ่ายและท่องเที่ยวของผู้บริโภคครับ ปีเตอร์ ลินท์แนะนำเสมอว่าจังหวะคือทุกสิ่งของการลงทุนในหุ้นวัฎจักรคุณต้องสังเกตธุรกิจตั้งแต่เนิ่นๆว่ามันกำลังจะเกิดอะไรขึ้น หากคุณทำงานในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจหลักทรัพย์ จำพวกนี้ก็ทำให้คุณได้เปรียบที่จะรับรู้วัฎจักรของมันครับ
5.หุ้นฟื้นตัว(Turnaround)
บริษัทที่ถูกทุบจนตกต่ำ และรอดจากการล้มละลาย หุ้นเหล่านี้ไม่ใช่หุ้นโตช้า แต่แท้จริงแล้วมันไม่โตเลย หุ้นเหล่านี้กว่าจะเป็นหุ้นฟื้นตัวได้ต้องมีการปรับโครงสร้าง มีการปรับปรุงงานส่วนบริหารและเป็นหุ้นที่บางครั้งอาจจะเปลี่ยนธุรกิจของกิจการไปทำอย่างอื่นแล้วได้ดี ก็ได้ครับ มีหุ้นหลายๆตัวในตลาดหุ้นไทยที่ทำธุรกิจแล้วไปไม่รอด อาจเพราะคู่แข่งเยอะ มีส่วนแบ่งการทางการตลาดมาก และมันคือผู้แพ้ เมื่อบริษัทใกล้ถึงจุดสิ้นสุดได้มีการเข้ามาปรับโครงสร้าง ได้มีคนมองเห็นคุณค่าบางอย่างในตัวผู้แพ้และเข้ามาแก้ไขจนทำให้มันกลับฟื้นคืนมาได้ครับ
6.หุ้นทรัพย์สินมาก(Asset play)
หุ้นทรัพย์สินมากคือหุ้นที่บริษัทมีทรัพย์สินซ่อนเร้นแต่ตลาดยังไม่รับรู้ และยังไม่ให้ความสนใจในตัวมัน โดยเรามองมันจากเงินสดและตัวอสังหาร์ริมทรัพย์ บริษัทบางบริษัทเพียงแค่ขายทรัพย์สินในมือก็สามารถพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรได้ทันทีครับ ในตลาดหุ้นมีหุ้นหลายตัวที่ตัวกิจการหลักกลับไม่ทำกำไร แต่มีบริษัทลูกที่อยู่ในเครือข่ายสามารถทำกำไรได้มากกว่า แต่หุ้นกลุ่มนี้ผมจะให้ความสนใจน้อยครับ นอกเสียจากจะมีปัจจัยเสริม เช่น บริษัทขายทีดินที่ไม่จำเป็น หรืออสังหาร์ริมทรัพย์บางอย่างออกไปเพื่อปรับแผนโครงสร้างและนำเงินไปพัฒนากิจการต่อแบบนี้มันจะดูน่าสนใจมาทันที
ทั้งหมดเป็นลักษณะการแบ่งกลุ่มของหุ้นโดยใช้ลักษณะวิธีการของ ปีเตอร์ ลินท์ ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นประโยชน์มากและใช้งานได้ดีครับ ในการลงทุนแบบ Value investor นั้นผมจะพิจารณาจาก Trend และมองสิ่งรอบๆตัวก่อนเสมอครับ หัดสังเกตและคุณจะเห็นโอกาสครับ ดังนั้นการลงทุนแบบ value investor นั้นเพียงแค่คุณมองหาบริษัทดีๆ ช่างสังเกตมองเห็นโอกาสในตัวมันและเข้าร่วมลงทุน โดยค่อยๆซื้อสะสมไป มองหาหุ้นที่ตลาดยังมองข้ามและมีกำไรเติบโตมีโอกาสขยายตัวทางธุรกิจ คุณย่อมประสบผลสำเร็จ มันต่างกับการเทรดเก็งกำไรที่คุณจะประสบความสำเร็จได้คุณต้องใช้เงินต่อเงินเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในเวลาที่รวดเร็ว ผมไม่ปฎิเสธว่าการเก็งกำไรนั่นต้องใช้เงิน ใช่ครับ ! คุณต้องมีเงิน คงไม่มีใครบอกว่าการเก็งกำไรนั้นใช้เงินแค่ไม่กี่พันก็รวยได้ มันไม่มีหรอกครับ มองหาจริตในตัวเองให้พบและเลือกทำในสิ่งที่เหมาะกับเรา หากคิดว่าคุณสามารถลงทุนและเทรดไปด้วยนั่นคือความโชคดีของคุณเพราะ คุณมีทั้งความขยันที่จะหากิจการและวิเคราะห์งบการเงิน รวมถึงมีความรู้ที่จะสามารถวิเคราะห์และตีความกราฟออกมา แต่คนส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จครับ เพราะถ้าหากเขาประสบความสำเร็จกันหมด ทุกคนคงเข้ามาลงทุนและเทรดในหุ้น มากกว่านั่งทำงานประจำครับ 
Nikky
cr:
FB Niik Agapol Chamnanpanich

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น